เกี่ยวกับสาขา

สาขาวิชาพัฒนศึกษา (Development Education)

      พัฒนศึกษา เป็นหลักสูตรที่คณะกรรมการบริหารของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527
และได้รับการพัฒนาเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2535 ได้รับความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา เป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2535 โดยมีความมุ่งหวังที่จะผลิตนักวิชาการที่สร้างสรรค์ เป็นนักการศึกษาแนวใหม่ที่เรียกว่า “นักพัฒนศึกษา” มีบทบาทเป็นผู้นำเรื่องการพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสม มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ มีโลกทัศน์กว้างไกลและลุ่มลึกทั้งในมิติของความเป็นนักคิด นักวิจัยและนักวิชาการ มีความสามารถในการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาต่อตนเอง ชุมชน สังคม
ประเทศชาติ และระดับนานาชาติ

       ในแต่ละปี สาขาวิชาพัฒนศึกษา มีนิสิตต่างวัย หลากภูมิหลังและหลายสาขาอาชีพ ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญของตนเองมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน นิสิตได้มีโอกาสแสดงบทบาทของตนเองอย่างเต็มภาคภูมิในฐานะพลเมืองที่ร่วมพัฒนาประเทศด้วยเครื่องมือที่สำคัญคือ “การศึกษา”

       ในโลกตะวันตกนั้น พัฒนศึกษาคือการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับผู้คนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนถึงบการพัฒนาทั้งในงานของกรอบแนวคิด กระบวนการและผลที่ตามมา เพื่อร่วมรับผิดชอบและในสิทธิ์ในฐานะสมาชิกของโลกใบนี้ที่ทุกสิ่งทุกอย่างส่งผลกระทบต่อกันและกันและต้องพึ่งพาอาศัยกัน สร้างพฤติกรรมและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา พัฒนศึกษายังเป็นการแสวงหาหาทางว่าการเรียนรู้ การศึกษา และความรู้ที่ไม่ได้มีเพียงแบบเดียวนั้น จะช่วยเหลือผู้คนให้หลุดพ้นจากสภาพการด้อยโอกาส ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ และการกีดกันทางสังคมด้วยการปลดปล่อย และการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

      การเรียนระดับบัณฑิตพัฒนศึกษา สาขาวิชาพัฒนศึกษา จึงมีความหมายยิ่งทั้งกับตัวผู้เรียนและสังคมโดยรวมอย่างมีเอกลักษณ์
ด้วยหลักสูตรแบบสหวิทยาการ ที่อาศัยความรู้ความเข้าใจจากหลากหลายสาขาวิชา กอปรกับองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและองค์ความรู้ด้านการศึกษา อีกทั้งโอกาสการทำงานในพื้นที่และการวิจัยภาคสนาม ผนวกด้วยประสบการณ์อันหลากหลายของคณาจารย์ผู้สอน และจากนิสิตที่ร่วมหลักสูตร ที่มีทั้งทหาร นักกีฬา พยาบาล นักธุรกิจ เภสัชกร เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ นักการศึกษา นักการทูต เป็นต้น

นักพัฒนศึกษา จะต้องมีทักษะในการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งสามส่วนนี้ซึ่งมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้คนในสังคมเกิดความตระหนักรู้และเข้าใจถึงการพึ่งพากันภายใต้ความไม่เท่าเทียมของโลกที่เราอาศัยอยู่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้
การโต้เถียง การลงมือทำและการสะท้อนกลับของสิ่งต่างๆ อันเป็นความท้าทายของสำนึกการอยู่ร่วมกัน

ดังนั้น งานด้านพัฒนศึกษาจึงมีความหลากหลายทั้งในด้านรูปแบบ แนวคิด กระบวนการและเป้าหมายของการพัฒนา นับตั้งแต่ระดับภูมิปัญญาไทยจนถึงระดับสากล การนำองค์ความรู้ทั้งสามส่วนมาวิเคราะห์ร่วมกันจึงเป็ฯการสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

ปรัชญา

มุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ในลักษณะสหวิทยาการ
เพื่อนำการศึกษาและการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนา

ความสำคัญ

เป็นหลักสูตรที่เน้นการศึกษาเพื่อการพัฒนาแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับบริบท การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคมไทย และสังคมโลก เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม โดยใช้สหวิทยาการเป็นหลัก

วัตถุประสงค์

1. เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านพัฒนศึกษาที่มีคุณสมบัติเป็นนักคิด นักวิจัย นักพัฒนา และนักวิชาการทางการศึกษา

2. เพื่อการใช้และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางพัฒนศึกษาผลิตงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลดหลักสูตร

หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา

ดาวน์โหลด

หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา

ดาวน์โหลด

เว็บไซต์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

WEBSITE